คลิกที่นี่เพื่อสนทนา Facebook Logo

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ วัดหน้าพระธาตุ (วัดตะคุ) อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีได้กำหนดจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ ๔/๒๕๖๗ และติดตามการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ระหว่างวันที่ ๑ – ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗

เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๕.๓๐ น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ วัดหน้าพระธาตุ (วัดตะคุ) อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีได้กำหนดจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ ๔/๒๕๖๗ และติดตามการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ระหว่างวันที่ ๑ – ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗ โดยมีนางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

นายกฤษณธร เลิศสำโรง นายอำเภอปักธงชัย นายนรเสฏฐ์ ศิริโรจนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๒ ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม หัวหน้าส่วนราชการ ชาวบ้านอำเภอพิมาย และสื่อมวลชน ให้การต้อนรับ

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเข้ากราบสักการะองค์รูปหล่อสมเด็จพระธีรญาณมุนี ภายในวิหารสมเด็จพระธีรญาณมุนี เข้ากราบสักการ์พระครูศรีธวัชชัยมนีเจ้าคณะอำภอปักธงชัย และพระครูอภิบาลธรรมธาตุ เจ้าอาวาส รับชมการแสดง “ลำเดือนห้า” โดยกลุ่มชนเผ่าลาวบ้านตะคุ และการแสดง “รำต้อนรับ” โดยกลุ่มชนเผ่าลาว เยี่ยมชมบูธผลิตภัณฑ์ในชุมชน ตลอดจนเข้าเยี่ยมชมแหล่งโบราณสถานวัดหน้าพระธาตุ อาทิ หอไตรกลางน้ำ พระธาตุ สิม จิตรกรรมฝาผนัง ภายในสิม และกุฏิไม้หลังเก่าอายุกว่า ๑๐๐ ปี

ทั้งนี้ “วัดหน้าพระธาตุ” หรือชาวบ้านเรียกวัดแห่งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “วัดตะคุ” เป็นวัดเก่าแก่ของชาวปักธงชัย สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๓๐ หรือในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตามประวัติวัดสร้างโดยชุมชนที่อพยพมาจากนครเวียงจันทน์ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบพื้นถิ่น และมีสิ่งสำคัญในโบราณสถาน ดังนี้

๑. อุโบสถ ก่ออิฐฉาบปูน หันหน้าไปด้านตะวันออก มีแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขด้านหน้า ส่วนฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ลักษณะแอ่นโค้งเรือสำเภาสมัยอยุธยาตอนปลาย มุขด้านหน้ามีบันไดขึ้นสามทางพร้อมพนักพิงมีเสารับหลังคามุขด้านหน้า ส่วนผนังด้านตะวันออก มีประตูทางเข้าด้านเดียว เหนือช่องประตูประดับภาพจิตรกรรม ผนังด้านแปเจาะช่องหน้าต่างด้านละ ๓ บาน หลังคาทรงจั่วสองตับสองซ้อนประดับโหง่ หรือที่ภาคกลางเรียกว่า “ช่อฟ้า” หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ภายในอุโบสถหลังเก่ามีภาพเขียนซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์น่าชม เป็นภาพแสดงเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ภาพชาดกตอนต่าง ๆ ภาพพระบฏ (พระพุทธเจ้าทรงยืน) ภาพการนมัสการรอยพระพุทธบาท ภาพพิธีศพหรืออสุภกรรมฐาน พระมาลัย นอกจากนี้ยังสอดแทรกวิถีชีวิตชาวบ้านด้วย ในอดีตมีภาพเขียนทางด้านนอก แต่ปัจจุบันลบเลือนไปมากแล้ว เหลือเพียงบางส่วนที่เหนือประตูทางเข้าด้านหน้า ลานประทักษิณเทพื้นคอนกรีต มีใบเสมาหินทรายพร้อมฐานหรือเสมานั่งแท่น จำนวน ๘ ฐาน สมัยอยุธยาตอนปลาย – รัตนโกสินทร์ตอนต้น

๒. เจดีย์ด้านตะวันตกของอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงระฆังย่อมุมไม้สิบสอง ประกอบด้วยฐานสิงห์ จำนวน ๕ ฐาน รองรับชั้นบัวปากระฆัง องค์ระฆังในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส บัวกลุ่มเถา และปลียอด

๓. หอไตร ตั้งอยู่หน้าอุโบสถหลังเก่า หอไตรหลังนี้ยกพื้นสูงชั้นเดียวตั้งอยู่ในสระน้ำ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเรือนไทยหลังคาจั่วภาคกลาง ก่อสร้างด้วยไม้ มีแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเสาไม้รองรับพื้นและฝาไม้ปะกน หลังคาทรงจั่วมีชายคาปีกนกรอบ ประดับหลังคาโหง่ ปั้นสันปูน มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา หอไตรหลังนี้มีภาพเขียนให้ชม ด้านนอกตั้งแต่ประตูทางเข้าเป็นลายรดน้ำปิดทอง ส่วนตามผนังเป็นภาพพุทธประวัติ เทพชุมนุม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง แม่พระธรณีซึ่งอยู่ในสภาพลบเลือนไปมาก ส่วนด้านในหอไตรเป็นเทพชุมนุม ดอกไม้ร่วง เป็นต้น

๔. พระธาตุ มีธาตุเจดีย์บรรจุอัฐิ ๒ องค์ ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีกำแพงแก้วเตี้ย ๆ ล้อมรอบ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระธาตุแบบพื้นบ้านลาว

๕. ศาลา ก่อสร้างด้วยไม้ มีแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเสาไม้รองรับโครงสร้างหลังคาหลังคาจั่วมีชายคาปีกนกรอบ หลังคาปั้นสันปูน มุงหลังคากระเบื้องดินเผา

แชร์