วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๕.๐๐ น. กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ Japan Foundation จัดพิธีเปิดงานนิทรรศการสัญจร “ยากิชิเมะ – ปั้นดิน เปลี่ยนโลก” (Yakishime – Earth Metamorphosis) โดยมี นางคาวามุระ มากิ ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและผู้อำนวยการสำนักข่าวสารญี่ปุ่น นางสาวอุรุษยา อินทรสุขศรี ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางโชกาเสะ มาริ หัวหน้าแผนกศิลปะและวัฒนธรรมของเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ นางสาวณุภัทรา จันทวิช นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการหอศิลป์ ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย แขกผู้มีเกียรติ ศิลปิน และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ลานพิธีเปิดนิทรรศการ ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ชั้น ๓ อาคารหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน นิทรรศการดังกล่าว กำกับโดยคุณมิเอโกะ อิวาอิ จากพิพิธภัณฑ์พานาโซนิค ชิโอโดเมะ และนำเสนอยากิชิเมะ เทคนิคผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิมที่สุดในการเผาภาชนะที่ไม่ผ่านการเคลือบด้วยอุณหภูมิสูงในญี่ปุ่น และกรรมวิธีดังกล่าวพัฒนาผ่านกาลเวลาในทิศทางโดดเด่นหลากหลาย นิทรรศการนี้จะถ่ายทอดความลึกซึ้งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นโดยการพิจารณายากิชิเมะตั้งแต่ชิ้นงานในยุคแรกสุดไปจนถึงชิ้นงานร่วมสมัย แม้ว่าการผลิตยากิชิเมะจะเรียบง่ายโดยเริ่มจากการปั้นดินเหนียวและการเผา กรรมวิธีพื้นฐานที่สุดนี่เองที่ทำให้เห็นได้ชัดว่ามีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร แทนที่จะใช้การเคลือบเพื่อตกแต่งและทำให้มีพื้นผิวที่กันน้ำ เครื่องปั้นดินเผายากิชิเมะจะถูกเผาที่อุณหภูมิสูงประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ องศา เพื่อให้ดินเหนียวจับตัวกันแน่นจนกลายเป็นแก้วและสามารถกันน้ำได้ ขนบการผลิตยากิชิเมะยังคงสืบทอดกันมาอย่างไม่ขาดสายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ว่ากันว่าเครื่องปั้นดินเผายากิชิเมะที่เป็นที่รู้จักในยุคแรกเริ่มสุดนั้นมีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่ ๔ หรือ ๕ กันเลยทีเดียว แต่เทคนิคดังกล่าวได้ถูกวางรากฐานอย่างชัดเจนในช่วงศตวรรษที่ ๑๒ ถึงศตวรรษที่ ๑๗ จากนั้น ยากิชิเมะถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในศูนย์กลางการผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญในญี่ปุ่น เช่น บิเซ็น, ชิงารากิ, และโทโกนาเมะ
ทั้งนี้ นิทรรศการ “ยากิชิเมะ – ปั้นดินเปลี่ยนโลก” จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผามากกว่า ๙๐ รายการ โดยนิทรรศการได้แบ่งออกเป็นส่วนของบทนำและสามส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่ ๑ : ยากิชิเมะในฐานะเครื่องถ้วยชา ส่วนที่ ๒ : วาโชกุและยากิชิเมะ และส่วนที่ ๓ : ยากิชิเมะในฐานะศิลปวัตถุ สามารถชมนิทรรศการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ ห้องนิทรรศการ ๕ ชั้น ๒ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ ๒๕ สิงหาคม – ๒๖ กันยายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๙.๐๐ น.(ปิดทุกวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์) และที่หอศิลป์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ ๗ ตุลาคม – ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.(ปิดทุกวันจันทร์) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม เฟซบุ๊ก : jfbangkok | เว็บไซต์: https://ba.jpf.go.jp/