วันอังคาร ที่ 3 กันยายน 2567 เวลา 13.00 น. นางสาวสมลักษณ์ คล่องแคล่ว ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการส่งเสริมงานวิจิตรศิลป์ (ทัศนศิลป์) สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการละครเพลงร่วมสมัยเรื่อง “นางไอ่” การผสานหมอลำและศิลปะการละคร เพื่อพัฒนาความรู้ และปฏิบัติการสร้างการแสดงแนวทางใหม่ในท้องถิ่นอีสาน โดยมีนางสาวสุวิมล วิมลกาญจนา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายสัมพันธ์และแหล่งทุน และข้าราชการในสังกัด ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.ดร.พชญ อัคพราหมณ์ สาขาวิชาการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ศิลปินและนักแสดงร่วมในพิธี
ภายในงานมีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “82 ปี ลำเรื่องต่อกลอน จากรากสู่เรา” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ วันดี พลทองสถิตย์ (ศิลปินมรดกอีสาน สาขาลำเรื่อง ปี 2559) อรวรรณ รุ่งเรือง (รางวัลหมอลำโล่พระราชทาน ปี 2538) รุ่งฟ้า กุลาชัย (ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง ปี 2557) ผศ.ดร.ทินกร อัตไพบูลย์ (รางวัลเชิดชูเกียรติ “วัฒนคุณาธร” สาขาศิลปะการแสดงดนตรีพื้นบ้านภาคอีสาน) อ.ดร.ดวงฤทัย บุญสินชัย (อาจารย์สอนขับร้องหมอลำ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น) ดำเนินรายการโดย สุมาลี สุวรรณกร (บรรณาธิการบริหารไทอีสาน PBS ในเครือไทยพีบีเอส) และการเสวนาในหัวข้อ “ทำลำเรื่องอย่างไรให้ Glocalization” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ (ผู้อำนวยการโฮงสินไซ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมอีสานร่วมสมัย) ผศ.ดร.มนูญศักดิ์ เรืองเดช (ศิลปินหมอลำและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี) ผศ.ดร.พชญ อัคพราหมณ์ (ผู้กำกับการแสดงละครเพลงลำเรื่อง นางไอ่) และ ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมอีสานและกลอนลำร่วมสมัย) ดำเนินรายการโดย อาจารย์รัชนีกร จันทหาร (อาจารย์ประจำสาขาวิชาการแสดง)
ทั้งนี้ โครงการละครเพลงลำเรื่อง นางไอ่ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาการดำเนินงานของเครือข่ายศิลปะร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนวัตกรรมการแสดงหมอลำเรื่องต่อกลอน ผสมผสานกับละครเพลง ในรูปแบบการแสดงหมอลำแนวทางใหม่ Morlam in Theatre (A New Musical) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ละครเพลงลำเรื่อง” ครั้งแรกในประเทศไทย จัดแสดงในโอกาสแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี วันสถาปนาคณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสะท้อนถึงการเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านศิลปกรรม ในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยผู้สนใจ สามารถรับชมการแสดงระหว่างวันที่ 3 – 5 กันยายน 2567 ณ โรงละครคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น