นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558-2565 สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ได้ดำเนินโครงการผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเล็งเห็นถึงคุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมรดกทางภูมิปัญญาประเภทสิ่งทอที่มีความโดดเด่นอย่างผ้าบาติก ในพื้นที่ 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย) โดยได้จัดทำโครงการส่งเสริมการออกแบบลายผ้าบาติกร่วมสมัยและผลิตภัณฑ์ของชุมชนร่วมกับดีไซเนอร์ผู้มีชื่อเสียงในระดับประเทศและวงการแฟชั่นสากล จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้แก่กลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบการในชุมชนมากกว่า 30 แห่ง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาลวดลายผ้าบาติกร่วมสมัย เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและเป็นที่ต้องการของตลาด นำไปสู่การสร้างรายได้ ที่เสริมสร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น และเพื่อส่งเสริมการพัฒนา สร้างรายได้และเศรษฐกิจของชุมชนอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 นี้ได้นำดีไซเนอร์รุ่นใหม่ดาวรุ่ง (Rising Young Designers) ได้แก่ นายภาณุพงศ์ คำดี นายนรบดี ศรีหะจันทร์ และนายสมชัย ธงชัยสว่าง ร่วมกับ นายธีระ ฉันทสวัสดิ์ และนายเอก ทองประเสริฐ กรรมการพิจารณาคัดเลือกนักออกแบบโครงการฯ ลงพื้นที่พบปะกับผู้ประกอบการในชุมชน พร้อมเป็นวิทยากรอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านศิลปะร่วมสมัย เพื่อการพัฒนาการออกแบบลายผ้าบาติก ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการผ้าบาติกในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยบาติก และยิ่งบาติกเพ้นท์ จังหวัดภูเก็ต วิสาหกิจชุมชนไฑบาติกเขาคราม จังหวัดกระบี่ บาติก เดอ นารา และรายา บาติก จังหวัดปัตตานี และอาดือนัน บาติก จังหวัดยะลา ระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ให้พัฒนาไปสู่สินค้าแฟชั่นที่มีเปี่ยมด้วยคุณค่า และสร้างมูลค่าให้แก่ตลาดอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งในประเทศและระดับสากลต่อไป
นายประสพ เรียงเงิน กล่าวอีกว่า “เมื่อกระบวนการพัฒนาลวดลายของผ้าบาติกเสร็จสิ้น จะนำผ้าบาติกที่ได้รับการพัฒนาลวดลายมาตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายร่วมสมัย พร้อมถ่ายทำ Fashion Set และหนังสือรวบรวมผลงาน หรือ Lookbook เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชนในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 นี้ ผู้สนใจสามารถติดตาม Fashion Set และข้อมูลข่าวสารการพัฒนาได้ทาง เพจสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย