คลิกที่นี่เพื่อสนทนา Facebook Logo

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการและองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ครั้งที่ ๓/๒๕๖๗

วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๔.๐๐ น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการและองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ครั้งที่ ๓/๒๕๖๗ โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารองค์การมหาชนในสังกัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น ๘ อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม

ทั้งนี้ ในการประชุมฯ มีการรายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนงานตามข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ การรายงานผลการดำเนินงานสำคัญในช่วงเดือนที่ผ่านมาของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม นอกจากนี้ มีการนำแผนการดำเนินงานที่สำคัญในเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ของหน่วยงานในสังกัด

สำหรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ มีสาระสำคัญ ดังนี้ “นโยบาย ๔ ข้อ ขับเคลื่อนใน ๓ แนวทาง และ ๒ รูปแบบไปสู่ ๑ เป้าหมาย” สำหรับ ๔ นโยบายขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม ประกอบด้วย ๑) ส่งเสริม สร้างสรรค์ ผลักดันทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ ๒) เสริมสร้างระบบนิเวศและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจวัฒนธรรม ๓) เสริมพลังสร้างสรรค์ ให้ “คน” เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมและสังคม ๔) พัฒนาและผลักดันสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมให้มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในตลาดโลก

สำหรับ ๓ แนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย ๑) “เชื่อมโยง” หมายถึง โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมเป็นปัจจัยยกระดับคุณภาพ คุณค่า และมูลค่า ผ่านการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมวัฒนธรรมกับอุตสาหกรรมสาขาอื่น ๆ อาทิ วัฒนธรรมกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรมกับการเกษตร วัฒนธรรมกับการแพทย์ ๒) “ร่วมมือ” บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งเอกชน ประชาชน สถาบันการศึกษา รวมถึงทุกหน่วยงานภาครัฐ อย่างใกล้ชิด ใส่ใจและต่อเนื่อง ไม่ทำงานแบบแยกส่วนหรือไซโล ไม่ซ้ำซ้อน และต้องมีความโปร่งใส เปิดเผยและตรวจสอบได้ ๓) “ยั่งยืน” คำนึงถึงความยั่งยืนของการดำเนินงานใน ๓ มิติ คือ (๑) ประโยชน์ที่ยั่งยืนของประเทศและประชาชน (๒) การบริหารจัดการที่ยั่งยืน และ (๓) การธำรงไว้ซึ่งคุณค่าของวัฒนธรรมที่ยั่งยืน และ ๒ รูปแบบการปฏิบัติ ประกอบด้วย “รักษาสิ่งเดิม และเพิ่มเติมสิ่งใหม่” และ ๑ เป้าหมาย คือ ผลักดันให้เศรษฐกิจวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

แชร์