คลิกที่นี่เพื่อสนทนา Facebook Logo

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ ปราสาทนางรำ อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมาในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีได้กำหนดจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ ๔/๒๕๖๗ และติดตามการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ระหว่างวันที่ ๑ – ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗

เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๗เวลา ๑๑.๐๐ น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ ปราสาทนางรำ อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา ในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีได้กำหนดจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร)ครั้งที่ ๔/๒๕๖๗ และติดตามการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ระหว่างวันที่ ๑ – ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗ โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายสรวิศ เหล่านิล นายอำเภอประทาย นายชยกฤต ยินดีสุข นายกเทศมนตรีตำบลหนองบัววง นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ชาวบ้านอำเภอประทาย และสื่อมวลชน ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฯ โดยมีมัคคุเทศน์เยาวชนจากโรงเรียนปราสาทหินนางรำ ขับกลอนต้อนรับ และโรงเรียนบ้านหญ้าคากล่าวต้อนรับอย่างอบอุ่น รวมทั้งเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ในชุมชน การสาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่น ชมวีดิทัศน์ผ้าไหมลายช่อดอกเค็ง ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นลายอัตลักษณ์ประจำอำเภอประทาย พร้อมมอบนโยบายและกล่าวให้ขวัญกำลังใจชาวบ้าน มุ่งผลักดันให้เป็นมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย“ปราสาทนางรำ” เป็นอโรคยศาลหรือศาสนสถานประจำโรงพยาบาลที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พระราชาแห่งอาณาจักรขอมหรือเขมรโบราณโปรดให้สร้างขึ้น ช่วงเวลาที่พระองค์ครองราชย์สมบัติที่เมืองพระนครหลวง ประมาณ พ.ศ. ๑๗๒๔ – ๑๗๖๓ หรือในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ตามความในศิลาจารึกปราสาทตาพรหม ราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นโบราณสถานศาสนสถานปราสาทเขมรประเภทอโรคยศาลเนื่องในศาสนาพุทธ ฝ่ายมหายาน มีสิ่งสำคัญในโบราณสถาน ดังนี้

๑. ปราสาทประธาน ก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย แผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ด้านหน้าก่อเป็นห้องมุขยื่นออกมา หันหน้าทางทิศตะวันออก มีลักษณะทางสถาปัตยกรรม ประกอบด้วย ส่วนฐานรองรับเรือนธาตุ ส่วนเรือนธาตุ มีทางเข้าด้านตะวันออกอีกสามด้านเป็นประตูหลอก ส่วนชั้นซ้อนและบัวยอด

๒. บรรณาลัย ก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าทางทิศตะวันตก ประกอบด้วย ห้องกลาง และมุขด้านหน้า ผนังด้านทิศเหนือก่อทึบ ผนังด้านทิศใต้ ก่อเป็นหน้าต่างหรือช่องแสง หลังคาโค้งทรงประทุน

๓. กำแพงแก้ว ก่อด้วยศิลาแลง แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประกอบด้วย ส่วนฐานเขียงรองรับผนังกำแพง ส่วนผนังกำแพง ด้านบนเป็นทับหลังกำแพงศิลาแลงทรงโค้งสกัดตรงกลางเป็นสันตามแนวยาว

๔. ซุ้มประตูหรือโคปุระ ก่อด้วยศิลาแลง แผนผังรูปกากบาทก่อเชื่อมกับแนวกำแพงด้านทิศตะวันออก เป็นทางเข้าหลัก มีลักษณะผังพื้น ประกอบด้วย ห้องกลาง มุขด้านตะวันออก มุขด้านเหนือ มุขด้านใต้ และมุขด้านตะวันตก มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมประกอบด้วยส่วนฐานรองรับผนังซุ้มประตู ส่วนหลังคาโค้งทรงประทุนประดับบราลีสันหลังคา ภายในห้องกลางมีฐานรองรับรูปเคารพศิลาแลงรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส และฐานรองรับประติมากรรมหินทรายรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ๑ ฐาน

๕. ร่องรอยฐานอาคารประดิษฐานจารึก มีลักษณะเป็นอาคารโถงขนาดเล็กหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้วมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะก่อเรียงศิลาแลงเป็นกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีหลุมเสาที่มุมทั้งสี่ด้านๆละ ๑ หลุม ตรงกลางเป็นแท่นศิลาแลงสี่เหลี่ยมเจาะหลุมตรงกลาง ลักษณะเหมือนแท่นฐานสำหรับเสียบเดือย

๖. สระน้ำประจำศาสนสถาน ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือ กรุด้วยศิลาแลง ลักษณะซ้อนลดหลั่นลงไปยังก้นสระ

แชร์

ภาพกิจกรรมอื่นๆ