วันที่ 19 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 – 19.30 น. ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย มอบหมายให้นางสาวสุวิมล วิมลกาญจนา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายสัมพันธ์และแหล่งทุน เข้าร่วมรับฟังการเสวนาด้านนโยบายศิลปวัฒนธรรม BACC Circle หัวข้อ “On Building the West Kowloon Cultural District: A 20-Year Journey” โดย Bernard Chanwut Chan และ ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร Bernard Chanwut Chan รองประธานและคณะกรรมการของ West Kowloon Cultural District Authority ได้บรรยายถึงความเป็นมาของพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมในย่านเกาลูนตะวันตกของฮ่องกงที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ราว ค.ศ. 2000 ภายหลังจากการย้ายท่าอาศยานหลักของฮ่องกง ทำให้เกิดการเวนคืนที่ดิน และเกิดแนวคิดในการสร้างพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมขนาดใหญ่ขึ้น โดย West Kowloon Cultural District ประกอบด้วยหอศิลป์ M+ พิพิธภัณฑ์ Hong Kong Palace Museum และโรงละครอุปรากรจีน Xiqu Centre ที่เปิดทำการเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
เช่น Freespace พื้นที่ศิลปะสำหรับคนรุ่นใหม่ และ Lyric Theatre Complex คุณ Bernard ได้เน้นย้ำว่า แม้ว่าโครงการก่อสร้างพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมสำหรับสาธารณะขนาดใหญ่เช่นนี้จะใช้งบประมาณมหาศาล แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชากรฮ่องกงที่มีพื้นที่จำกัด โดยในปัจจุบัน หลังจากฮ่องกงเผชิญกับสภาวะความไม่สงบทางการเมืองและวิกฤตจากโรคระบาดโควิด-19 นักท่องเที่ยวได้เริ่มเดินทางกลับเข้ามายังฮ่องกงเพื่อมาเยี่ยมเยือน West Kowloon Cultural District ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดีของโครงการ
ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการศิลป์และประธานบริหาร บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ได้แลกเปลี่ยนความพยายามในการสร้างพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมของไทยบริเวณศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีแนวคิดเริ่มต้นขึ้นในช่วงเดียวกับแนวคิดของ West Kowloon Cultural District ในฮ่องกง โดยปัจจุบันหอศิลป์แห่งชาติได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเคยใช้จัดแสดงนิทรรศการจากโครงการจัดซื้อผลงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ดำเนินการโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมาแล้ว 2 ครั้ง นอกจากนี้ มหกรรมศิลปะร่วมสมัย Thailand Biennale 2023 ที่เพิ่งเปิดแสดง ณ จังหวัดเชียงราย ถือเป็นกิจกรรมด้านศิลปะที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ภายใต้รัฐบาลปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับนโยบายด้าน Soft Power ก็อาจเป็นช่วงเวลาที่พื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมดังกล่าวจะมีการขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีได้