เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๘ เวลา ๑๙.๔๐ น. นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานเทศกาลมหาสงกรานต์แห่นางดานเมืองนครฯ “นางดาน อลังการเมืองนครฯ” THE ONLY IN THAILAND ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๘ โดยมีนายสมชาย ลีหล้าน้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายชาคร ไอยศูรย์ ปลัดเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ผู้บริหารกรมส่งเสริมวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช วัฒนธรรมจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ประชาชนและนักท่องเที่ยว เข้าร่วม ณ สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ทั้งนี้ เทศกาลสงกรานต์ปี ๒๕๖๘ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรม จัดงาน “เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์” ทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์บ้านฉัน สีสันแบบไทย สุขไกลทั่วโลก Once in a Lifetime : Experience Songkran in Thailand” กำหนดจัดงานประเพณีสงกรานต์ในพื้นที่ ๑๗ จังหวัด ทั่วประเทศ และพื้นที่ส่วนกลางกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมประเพณีไทย นำเสนอความงดงามของวัฒนธรรมไทยและต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ให้ได้ร่วมภาคภูมิใจและร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ พร้อมยกระดับประเพณีสงกรานต์สู่ World Event เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้จากงานเทศกาลสงกรานต์ ๒๕๖๘ นี้ ได้ถึง ๒๖,๕๐๐ ล้าน บาท / และจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาร่วมงานถึง ๔๗๖,๐๐๐คน / และนักท่องเที่ยวไทยเพิ่ม ๔,๔๑๘,๕๐๐ คน
โดยในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้รักในศิลปวัฒนธรรม จะได้สัมผัสความยิ่งใหญ่ของประเพณีโบราณแห่งเดียวในไทย ในงาน “นางดาน อลังการเมืองนครฯ” เทศกาลมหาสงกรานต์แห่นางดานเมืองนครศรีธรรมราช ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๘ กิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสืบสานและเชิดชูมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของภาคใต้ ถ่ายทอดอัตลักษณ์ท้องถิ่นผ่านขบวนแห่นางดานอันศักดิ์สิทธิ์ ตระการตา ขบวนแห่นางดานได้เคลื่อนจากหอพระอิศวรมายังบริเวณสวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช การแสดงพิธีโล้ชิงช้า “หนึ่งเดียวในประเทศไทย” พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์จากเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ พิธีตรียัมปวายรับพระอิศวร ด้วยแสง สี เสียง เลเซอร์ พลุนานาชาติแบบไพโรเทคนิค (Pyrotechnics) สุดอลังการในชุด “มหากาพย์แห่งศรัทธาและจิตวิญญาณ” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวอารยธรรมและความศรัทธาของเมืองนครศรีธรรมราชอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้แนวคิด “THE ONLY IN THAILAND” ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมงานในวันนี้ได้สัมผัสถึงความวิจิตรแห่งจิตวิญญาณและความศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชาวนครศรีธรรมราช อย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การสร้างความตระหนักรู้และซึมซับความเป็นบทบาทและวัฒนธรรมของจังหวัดนครศรีธรรมราชในฐานะศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมสำคัญของประเทศและยกระดับเทศกาลประเพณีไทยสู่สายตานานาชาติ พิธีแห่นางดาน เป็นประเพณีที่เก่าแก่และมีเพียงแห่งเดียวของประเทศไทยที่จัดในจังหวัดนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งมีชุมชนพราหมณ์เกิดขึ้นในนครศรีธรรมราช ซึ่งการจัดพิธีแห่งนางดานนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อบูชาเทพบริวารในคติพราหมณ์ โดยนางดานหรือนางกระดาน เป็นแผ่นไม้กระดานที่มีขนาดความกว้างหนึ่งศอก และสูงสี่ศอก แกะสลักเป็นรูปเทพบริวารในคติความเชื่อของพราหมณ์ จำนวน ๓ แผ่น ๓ องค์ ได้แก่ รูปพระจันทร์กับพระอาทิตย์ พระธรณี และพระคงคา โดยจะอัญเชิญเทพทั้งหลายวางบนเสลี่ยง แผ่นละเสลี่ยงและมี “นาลีวัน” หามขบวนแห่พิธีจะเริ่มในเวลาพลบค่ำ โดยสมมติว่าพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระธรณี พระคงคา มารอรับเสด็จพระอิศวร จำลอง “พิธีแห่นางดาน” อัญเชิญนางดานจากสนามหน้าเมืองมายังหอพระอิศวร ประดิษฐานในหลุมหน้าเสาชิงช้า เพราะเชื่อว่าพระอิศวรจะเสด็จลงมาโลกมนุษย์ทางเสาชิงช้า จำลอง “พิธีโล้ชิงช้า” การรำเสนง การแสดง แสง สี เสียง เรื่องราวตำนานนางดานและเทพที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งตามความเชื่อการเสด็จลงมาของพระอิศวรจะต้องเสด็จลงมาในเดือนอ้าย ซึ่งเป็นปีใหม่ของชาวพราหมณ์ฮินดู ปัจจุบัน ประเพณีแห่นางดาน กำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๑๔ เมษายนของทุกปี โดยมีจุดเด่นของงานเป็นริ้วขบวนแห่นางดาน และการโล้ชิงช้า ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวของประเทศไทย สำหรับแผ่นไม้กระดาน จำนวน ๓ แผ่น ๓ องค์ ที่ใช้สำหรับการแห่นางดาน มีนิยามและความเชื่อที่สำคัญ ดังนี้
แผ่นแรก คือ รูปพระอาทิตย์และพระจันทร์ โดย พระอาทิตย์ เป็นเทพผู้สร้างกลางวัน ให้แสงสว่างและความร้อนแก่โลกมนุษย์และดาวเคราะห์อื่น ๆ เป็นดาวที่ให้พลังงานแก่สิ่งมีชีวิต ก่อให้เกิดฤดูกาล เกิดการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักร ส่วน พระจันทร์ เป็นเทพผู้สร้างกลางคืน สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และความอ่อนละมุน เทพผู้อำนวยให้สรรพสิ่งมีชีวิตได้พักผ่อน
แผ่นที่สอง คือ รูปพระแม่ธรณี โดยพระธรณี เป็นเทพผู้รองรับน้ำหนักของสรรพสิ่งและพยุงสิ่งทั้งหลายให้ดำรงอยู่ เป็นเทพแห่งคุณงามความดีทั้งปวง เป็นผู้รับสั่งสมสิ่งมีค่า อาหาร ได้ชื่อว่า วสุธา ผู้ทรงไว้ซึ่งทรัพย์
แผ่นที่สาม คือ รูปพระนางคงคา โดยพระคงคา เป็นเทพผู้ประทานอันยิ่งใหญ่แก่มนุษย์ เป็นผู้อำนวยความชุ่มฉ่ำและสมบูรณ์ ไหลชำระสิ่งต่าง ๆ ทำให้ดินชุ่มชื้นสมบูรณ์ สิ่งมีชีวิตเจริญงอกงามได้












