เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๗ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดการแสดงดนตรีพื้นถิ่น “การเดินทางของทะเลสาบโตบาสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา” โดยมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม เอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย นักเรียน นักศึกษา ประชาชนผู้สนใจ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมเข้าร่วม ณ ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน บริเวณชั้น ๓ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ
การแสดงดนตรีพื้นถิ่น “การเดินทางของทะเลสาบโตบาสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ประกอบด้วยการแสดงดนตรีพื้นถิ่นไทย จากวงคเณศวังหน้า สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ที่นำเอาเครื่องดนตรีพื้นถิ่นภาคกลางมาผสมผสานกับเครื่องดนตรีพื้นถิ่นภาคอีสาน ในบทเพลงเดือนเพ็ญ นกขมิ้น และปิดท้ายด้วยความสนุกสนานจังหวะอีสานอย่างสั้นซุ้ม และการแสดงดนตรีพื้นถิ่นสุมาตราเหนือจากวง Eta Margondang ที่นำเอาเครื่องดนตรีพื้นถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ Toba, Karo, Simalungun และPakpak มาแสดงในบทเพลง Dinggur, Perbobah, Ningkah และ Sitolu Sada จากนั้นเป็นการแสดงดนตรีร่วมระหว่างทั้งสองวงในบทเพลงโปงลางออกนกไซบินข้ามทุ่ง และเพลง REGE REGE Dai-Nang เพื่อแสดงถึงความผสมกลมกลืนบนความแตกต่างหลากหลาย ผ่านเครื่องดนตรีพื้นถิ่นของทั้งสองชาติ ปิดท้ายการแสดง นาย Rachmat Budiman เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทยยังได้ให้เกียรติขับร้องบทเพลงร่วมกับวง Eta Margondang ในโอกาสนี้ด้วย
โดยเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๗ วงคเณศวังหน้า และวง Eta Margondang ยังได้ร่วมกันจัด กิจกรรม Workshop การแนะนำและสาธิตเครื่องดนตรีพื้นถิ่นสุมาตราเหนือ จากวง Eta Margondang การแนะนำและสาธิตเครื่องดนตรีพื้นถิ่นไทย จากวงคเณศวังหน้า โดยให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจด้านดนตรี ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ด้านดนตรีพื้นถิ่นของทั้งสองประเทศด้วย
การแสดงดนตรีพื้นถิ่น “การเดินทางของทะเลสาบโตบาสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ร่วมกับกลุ่มศิลปินและนักประพันธ์เพลง Eta Margondang ซึ่งเป็นไปตามนโยบายในการใช้มิติทางวัฒนธรรมเสริมสร้างภาพลักษณ์ เกียรติภูมิและยกระดับบทบาทด้านวัฒนธรรมของไทยในเวทีโลก โดยกระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงความร่วมมือ การสร้างและดำเนินงานของเครือข่ายวัฒนธรรมทั้งบุคคล ชุมชน สถาบัน องค์กรและหน่วยงานด้านศิลปวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมวัฒนธรรมทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนรวมถึงประเทศคู่เจรจาด้วย อีกทั้งยังเป็นการเปิดประสบการณ์การเรียนรู้เครื่องดนตรีต่างวัฒนธรรมให้แก่นักเรียน นักศึกษา และคณาจารย์ด้านดนตรี ประชาชนผู้สนใจด้านดนตรีพื้นถิ่นที่จะได้รับชมการแสดงดนตรีจากกลุ่มชาติพันธุ์อินโดนีเซียซึ่งหารับชมได้ยากอีกด้วย