คลิกที่นี่เพื่อสนทนา Facebook Logo

พิธีเปิดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 วันที่ 9 ธันวาคม 2566 เวลา 19.00 น. Chiang Rai International Art Museum (CIAM)

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ อย่างยิ่งใหญ่อลังการ พร้อมผลักดันงานศิลปะร่วมสมัยเป็น Soft power ตามแนวทาง Winter Festival ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ วันที่ 9 ธันวาคม 2566 เวลา 19.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ คณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดงานฯ คณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย หัวหน้าส่วนราชการและคณะทำงานจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยศิลปินทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ ภัณฑารักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนคณะผู้แทนจากองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและประชาชนที่เกี่ยวข้องที่มาร่วมเป็นเกียรติในงาน จำนวนกว่า 1,500 คน ณ หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย Chiang Rai International Art Museum (CIAM) จังหวัดเชียงราย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในเดือนธันวาคมปีนี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันกระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) จังหวัดเชียงราย ตลอดจนองค์กรเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ พร้อมด้วยผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์และภัณฑารักษ์ ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยและชาวต่างประเทศ ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับโลก 60 คนจาก 21 ประเทศ ที่ได้มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกับเครือข่ายศิลปินเชียงราย ในช่วงระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา โดยใช้พลังของ Soft Power ต่อยอดและยกระดับกิจกรรมงานเทศกาล ประเพณีไทย และศิลปวัฒนธรรมจากระดับประเทศ สู่ระดับระดับโลก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว สอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมโครงการ Winter Festival ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ การเปิดโลกศิลปะ เปิดบ้านเชียงราย ในครั้งนี้จึงเป็น กลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาเชียงรายให้ก้าวสู่เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และก้าวสู่การเป็นเมืองศิลปะระดับโลกอย่างสมดุลและยั่งยืนบนพื้นฐานของความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมอย่างแท้จริง จึงขอเชิญชวนชาวไทยและชาวเชียงรายร่วมกันเป็นเจ้าบ้านที่ดี เปิดบ้านอบอุ่นต้อนรับศิลปินและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่มาเยือนประเทศไทยของเรา เพื่อชมงานศิลปะร่วมสมัยอันทรงคุณค่า ชมความสวยงามของทิวทัศน์ธรรมชาติ อีกทั้งวัฒนธรรมประเพณีอันงดงาม แวะชิมอาหารท้องถิ่นหลากรส ร่วมเติมเต็มความสดชื่นและสีสัน ร่วมเปิดโลกสู่งานไทยแลนด์ เบียนนาเล่เชียงราย 2023 ไปพร้อมๆ กัน

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมตั้งเป้าผลการจัดงานครั้งนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมชมนิทรรศการมากกว่า 5 ล้านคน เกิดการจ้างงานมากกว่า 8,000 อัตรา ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท ในช่วง 5 เดือนเต็มของการจัดแสดงนิทรรศการ และความสำเร็จของการจัดงาน จะทำให้เชียงราย ไม่เพียงมีความงดงามจากธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ มีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันเก่าแก่กว่า 700 ปี ยังมีศักยภาพอันเข้มแข็งของชุมชน ศิลปินเชียงราย ซึ่งมีอาจารย์ถวัลย์ ดัชนีและอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ สองศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย เป็นต้นแบบที่ดีในการสร้างสรรค์เมืองเชียงราย เหล่านี้จะทำให้เชียงรายเป็นเมืองศิลปะ ที่สามารถขับเคลื่อนมิติทางศิลปวัฒนธรรมสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในเวทีโลก

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ที่ผ่านมาจังหวัดเชียงรายได้บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อให้งาน Thailand Biennale,Chiang Rai 2023 ขับเคลื่อนเมืองเชียงรายให้มีชีวิตชีวาและเต็มไปด้วยสีสันบรรยากาศของงานศิลปะร่วมสมัย ที่ครอบคลุมในทุกมิติ เช่นการเปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเทคนิคและแนวคิดในการทำงานระหว่างศิลปินนานาชาติ ศิลปินเชียงราย สล่าและปราชญ์ชาวบ้าน กิจกรรมเสวนาทางวิชาการ มิติการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กิจกรรมเวิร์คชอปและนิทรรศการในพาวิลเลี่ยนต่างๆ ทั้ง 13 พาวิลเลี่ยน ตลอดจนการเปิดบ้านศิลปินมากกว่า 62 แห่ง ในอำเภอต่างๆ ของจังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างการรับรู้ และยังเป็นการนำมิติด้านศิลปวัฒนธรรมเชื่อมโยงผู้คนไปสู่การพัฒนาเมืองเชียงรายให้ก้าวไปสู่ชุมชนศิลปะร่วมสมัยซึ่งมีความเป็นพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งในแบบฉบับของเชียงรายอีกด้วย ด้านผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ คุณฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช และคุณกฤติยา กาวีวงศ์ พร้อมด้วยทีมภัณฑารักษ์ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ และคุณมนุพร เหลืองอร่าม ย้ำถึงจุดเด่นของงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติ ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ภายใต้แนวคิด เปิดโลก หรือ The Open World ว่า เป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้กับวงการศิลปะร่วมสมัย ด้วยการเชื่อมโยงพหุวัฒนธรรมของเชียงรายที่มีประวัติศาตร์ยาวนานกว่า 700 ปี นำเสนอผ่านมุมมองของศิลปินอย่างลุ่มลึกด้วยเทคนิคและเนื้อหา ที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมร่วมขบคิด และตีความไปด้วยกัน ซึ่งนอกจากการจัดแสดงผลงานในพื้นที่หลักของอำเภอเมือง เช่น อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน พิพิธภัณฑ์บ้านดำ วัดร่องขุ่น หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า โกดังยาสูบ และห้องสมุดรถไฟ ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงหลักในอำเภอเมืองแล้ว อำเภอเชียงแสนยังมี ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เชียงแสน วัดป่าสัก ศรีดอนมูลอาร์ตสเปซ ช้างแวร์เฮาส์ โบราณสถานหมายเลข 16 ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลเวียงเชียงแสน โรงเรียนบ้านแม่มะ รวมถึงบ้านสวนสมพงษ์ อ.แม่ลาว และพื้นที่กิจกรรมพิเศษ ได้แก่ สิงห์ปาร์คเชียงรายและ มโนรมย์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Pavillion หรือ ศาลาจัดแสดงผลงาน Collateral Events จำนวน 13 แห่ง กระจายตัวอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ เช่นอำเภอเมือง อำเภอแม่ลาวและอำเภอพาน พร้อมด้วยกิจกรรมคู่ขนานอื่นๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นนับจากนี้ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมและรายชื่อ ศิลปินทั้ง 60 คนได้จากศูนย์ข้อหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย หรือ Chiang Rai International Art Museum (CIAM) วัดร่องขุ่น และเพจ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 /@thailandbiennale และเว็บไซต์ https://www.thailandbiennale.org/

แชร์

ภาพกิจกรรมอื่นๆ