คลิกที่นี่เพื่อสนทนา Facebook Logo

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน “เทศกาลศิลปะและวัฒนธรรม ศูนย์ศิลปะวิถี ครั้งที่ 7” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

วันที่ 20 เมษายน 2566 นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในพื้นที่จังหวัดตรัง และติดตามผลการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดเทศกาลศิลปะและวัฒนธรรม ศูนย์ศิลปะวิถี ครั้งที่ 7 ดังนี้

เวลา 18.30 น. นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงานเทศกาลศิลปะและวัฒนธรรม ครั้งที่ 7 โดยมีนางธมลวรรณ รักษ์สังข์ วัฒนธรรมจังหวัดตรัง นายชลาวุธ หยุ่นประสิทธิ์ ปลัดอำเภอห้วยยอด นายวิถี สุพิทักษ์ ประธานกลุ่มแลตรังยั่งยืน ผศ.ว่าที่พันตรี ดำรงค์ โลหะลักษณาเดช นายกสโมสรโรตารีตรัง พร้อมด้วยข้าราชการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยและสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรัง เข้าร่วมงาน ณ บ้านคลองคุ้ย ตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง

งานเทศกาลศิลปะและวัฒนธรรม ครั้งที่ 7 โดยนายสัมฤทธิ์ เพชรคง จัดขึ้นเพื่อนำศิลปะร่วมสมัยมาสร้างสรรค์ในท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากส่วนกลาง โดยสามารถสร้างให้ชุมชนเห็นคุณค่าในวิถีวัฒนธรรมของตัวเอง และสร้างมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจด้วยการสร้างรายได้ที่เป็นรูปธรรมสู่ชุมชน โดยภายในงานประกอบด้วยการแสดงวงดนตรี การแสดงกวี การแสดงความสามารถพิเศษเชิงสร้างสรรค์ทางทัศนศิลป์ การ Workshop เพื่อขยายเครือข่ายให้เป็นการร่วมมือระดับชาติ สู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางศิลปะ วัฒนธรรม ระหว่างนักศึกษา อาจารย์ ศิลปิน และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการออกร้านตลาดวิถีชุมชนคนตรัง ที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านนำสินค้าที่ผลิตในหมู่บ้านมาจำหน่าย

ในการจัดงานครั้งนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมกิจกรรมภายในงานไม่น้อยกว่า 6,000 คน สร้างการรับรู้จากสื่อสังคมออนไลน์ประมาณ 3,500 คน และก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนระหว่างการจัดงานกว่า 7,000,000 บาท ถือเป็นต้นแบบในการนำงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมาต่อยอดและสร้างรายได้สู่ชุมชน ซึ่งจะเป็นอีกพื้นที่ที่มีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของประเทศในอนาคต

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 13.00 น. คณะเดินทางได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี ที่มีการจัดแสดงลายผ้าทอและผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกาย โมเดิร์นนาหมื่นศรี โดยมี นางกุศล นิลลออ ผู้เป็นครูภูมิปัญญาผ้าทอนาหมื่นศรี เป็นผู้รวมกลุ่มและก่อตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นมา ซึ่งได้นำแรงบันดาลใจจากการพาดผ้าตามธรรมเนียมนาหมื่นศรีนำมาปรับเปลี่ยนให้มีความร่วมสมัย แสดงออกถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมและลายทออันประณีต โดยปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรีได้รับการยกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้ ส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวของผ้าทอนาหมื่นศรีให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสารโครงการได้ที่ Facebook: ศูนย์ศิลปะวิถี

แชร์